เคล็ดลับ 10 ข้อ สำหรับผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุน
Banner

หากคุณเป็นโรคกระดูกพรุน คุณไม่ต้องกังวลใจว่าคุณจะไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้แบบเดิมอีกต่อไป เริ่มต้นดูแลกระดูกให้มีสุขภาพดีตั้งแต่วันนี้จะช่วยให้คุณสามารถจัดการกับโรคกระดูกพรุนได้ โดยการปฏิบัติตามเคล็ดลับ 10 ข้อ ซึ่งเป็นคำแนะนำของผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนรายอื่นๆ1 เพื่อช่วยให้คุณสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นปกติ ส่งเสริมให้กระดูกแข็งแรงและลดความเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกหักในอนาคต

1. รับประทานยารักษาโรคกระดูกพรุนตามที่แพทย์แนะนำ และไปพบแพทย์ตามนัดหมาย

โรคกระดูกพรุนจัดเป็นโรคเรื้อรัง การที่จะทำให้กระดูกแข็งแรงและลดความเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกหัก คุณอาจจะต้องใช้ยารักษาโรคกระดูกพรุนเป็นระยะเวลาหลายปี2  การใช้ยาตามที่แพทย์สั่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ไม่ควรหยุดยาเองแม้ว่าคุณจะรู้สึกว่าอาการดีขึ้นแล้วก็ตามและควรไปพบแพทย์ตามนัดหมาย เพื่อตรวจความแข็งแรงของกระดูกและประเมินผลการรักษาอย่างสม่ำเสมอ

2. ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ

ปรึกษาแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ เช่น เภสัชกร นักโภชนาการ นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด และผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูก เพื่อขอคำแนะนำในการทำกิจวัตรประจำวัน การรับประทานอาหาร และการออกกำลังกาย เพื่อที่จะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ

3. สร้างความแข็งแรงให้กระดูก โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีปริมาณแคลเซียมและวิตามินดีที่เพียงพอ

รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียมและวิตามินดี ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่จะช่วยส่งผลให้มีกระดูกที่แข็งแรง รับประทานอาหารที่หลากหลาย และมีประโยชน์ทั้งผลไม้ ผัก เนื้อสัตว์ ปลา และผลิตภัณฑ์จากนม ซึ่งมีสารอาหารที่จำเป็นที่จะทำให้กระดูกแข็งแรง3,4

4. ควบคุมน้ำหนักตัว

เมื่อคุณเป็นโรคกระดูกพรุน การมีน้ำหนักตัวที่น้อยหรือมากเกินไป จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพกระดูกและเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกหักได้ ปรึกษาแพทย์หรือนักโภชนาการของคุณ เพื่อรับคำแนะนำที่จะช่วยให้คุณมีน้ำหนักตัวที่เหมาะสม5

5. ระมัดระวังเวลา ก้ม บิดลำตัว หรือยกสิ่งของ

ผู้ป่วยบางรายไม่สามารถก้มได้เหมือนเดิมก่อนเป็นโรคกระดูกพรุน จึงควรระมัดระวังเมื่อต้องทำงานบ้าน และไม่ควรทำทั้งหมดในครั้งเดียวควรทยอยทำ และขอให้ผู้อื่นช่วยหากต้องยกสิ่งของ1

6. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อกระดูกที่แข็งแรง

การออกกำลังกายแบบลงน้ำหนักและเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ จะช่วยทำให้กระดูกแข็งแรงและป้องกันการเกิดกระดูกหักในอนาคต3   การเดินเป็นการออกกำลังกายที่ดีวิธีหนึ่งสำหรับโรคกระดูกพรุนเช่นกัน เพราะฉะนั้นถ้าทำได้ พยายามเดินไปทำงาน หรือเดินไปร้านค้า สิ่งเล็กๆ น้อยๆ เช่นนี้สามารถช่วยได้1

7. ระมัดระวังเมื่อออกนอกบ้าน

ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนมักจะกลัวหกล้ม โดยเฉพาะเวลาออกไปนอกบ้าน เมื่อใช้บริการขนส่งสาธารณะคุณควรที่จะขอเอื้อเฟื้อที่นั่งจากผู้โดยสารท่านอื่นโดยเฉพาะเวลาที่มีผู้โดยสารหนาแน่น และระมัดระวังให้มากเวลาขึ้นและลงจากรถ1

8. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก

การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก ส่งผลทำให้การสร้างกระดูกลดลง เพิ่มความเสี่ยงของการหกล้มและการเกิดกระดูกหักได้3

9. งดสูบบุหรี่

เป็นที่ทราบกันดีว่าบุหรี่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่คุณอาจไม่ทราบว่าบุหรี่ทำให้การดูดซึมแคลเซียมของกระดูกทำได้ยากขึ้น การสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกสะโพกหักมากกว่าคนปกติถึง 1.8 เท่า ดังนั้นคุณจึงควรงดสูบบุหรี่3,5

10. พักผ่อนให้เพียงพอ

การพักผ่อนไม่เพียงพอจะส่งผลกระทบต่อขบวนการสร้างกระดูกใหม่ของร่างกาย ซึ่งจะส่งผลให้กระดูกเปราะบาง6 พยายามนอนหลับอย่างน้อย 7–9 ชั่วโมงในแต่ละคืน7

TH-01066-PRO-2020-August

RECENT POSTS

References

1 International Osteoporosis Foundation. Patient stories. osteoporosis.foundation/patients/patient-stories.

2 International Osteoporosis Foundation. Treatment. osteoporosis.foundation/patients/treatment

3 National Osteoporosis Foundation. Healthy bones for life - Patient’s guide. 2014. www.nof.org.

4 International Osteoporosis Foundation. Serve up bone strength throughout your life. 2015. osteoporosis.foundation/educational-hub/material/brochures.

5 International Osteoporosis Foundation. Love your bones: Protect your future. 2016. osteoporosis.foundation/educational-hub/material/brochures

6 Science Daily. Prolonged sleep disturbance can lead to lower bone formation. 2017. www.sciencedaily.com.

7 National Sleep Foundation. How much sleep do we really need? www.sleepfoundation.org.