แคลเซียมและวิตามินดี เป็นแร่ธาตุที่สำคัญในการดูแลสุขภาพกระดูก แคลเซียมและวิตามินดีทำงานร่วมกันอย่างไรเพื่อให้กระดูกแข็งแรงและควรได้รับปริมาณเท่าไหร่
แคลเซียมช่วยสร้างและรักษากระดูกให้แข็งแรง 99% ของปริมาณแคลเซียมในร่างกายอยู่ที่กระดูก ปริมาณแคลเซียมที่ต้องได้รับจะขึ้นอยู่กับอายุและเพศ เช่น ผู้หญิงอายุมากกว่า 50 ปี และผู้ชายอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไป ต้องได้รับแคลเซียมในปริมาณที่มากขึ้นเพื่อรักษากระดูกให้มีสุขภาพดี1 ข้อมูลจากมูลนิธิโรคกระดูกพรุนนานาชาติ พบว่า คนในแถบเอเชียได้รับแคลเซียมในปริมาณที่น้อยกว่าปริมาณที่แนะนำต่อวัน1,000–1,300 มิลลิกรัม/วัน2 ซึ่งสามารถแก้ได้ง่ายๆ ด้วยการรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียม
ผลิตภัณฑ์จากนม เช่น น้ำนม ชีส และโยเกิร์ต เป็นแหล่งของแคลเซียมที่สำคัญเพราะมีปริมาณแคลเซียมสูง รับประทานเพียงเล็กน้อยก็เพียงพอ นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำยังมีปริมาณแคลเซียมเทียบเท่ากับผลิตภัณฑ์นมที่มีไขมันปกติ
ผักใบเขียว และอาหารต่างๆเช่น ปลาแซลมอนกระป๋อง ปลาซาดีนกระป๋อง ก็เป็นอาหารที่มีแคลเซียมสูงเช่นกัน อย่างไรก็ตามหากคุณได้รับปริมาณแคลเซียมจากอาหารไม่เพียงพอ แพทย์ของคุณจะพิจารณาให้รับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารควบคู่กันไป ซึ่งจะช่วยเพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน3
กระดูกต้องการวิตามินดี เพื่อช่วยในการดูดซึมและควบคุมระดับแคลเซียม รวมถึงช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เมื่อผิวหนังสัมผัสแสงแดด โดยเฉพาะรังสี UVB จะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างวิตามินดี โดยใช้เวลาสัมผัสกับแสงแดดเพียงช่วงสั้นๆ ร่างกายก็สามารถสร้างวิตามินดีที่เพียงพอโดยที่ไม่ต้องเสี่ยงที่จะเกิดผิวไหม้จากแดด การสัมผัสแสงแดดอาจจะไม่เหมาะสำหรับบางคน ขึ้นอยู่กับฤดูกาล สถานที่ อายุ และสีผิว1,4
มูลนิธิโรคกระดกพรุนนานาชาติแนะนำว่า ปริมาณวิตามินดีที่ได้รับไม่ควรต่ำกว่า 600 IU/วัน5 ผิวหนังจะสร้างวิตามินดีได้น้อยลงเมื่ออายุเพิ่มขึ้น ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ควรจะรับประทานวิตามินดีเสริมวันละ 800 IU การได้รับวิตามินดีขนาดดังกล่าวจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการหกล้มและการเกิดกระดูกหักได้ถึง 20%5 คุณทราบหรือไม่ว่าวิตามินดีสามารถละลายได้ดีในไขมัน ดังนั้น วิตามินดีจะถูกดูดซึมได้ดีที่สุดเมื่อท่านรับประทานพร้อมกับอาหาร หรือคุณอาจจะรับประทานวิตามินดีพร้อมกับผลิตภัณฑ์จากนมก็ได้
แพทย์จะให้คำแนะนำในการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแคลเซียมและวิตามินดีเพื่อสุขภาพกระดูกที่ดีของคุณ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยารักษาโรคกระดูกพรุน การรับประทานแคลเซียมและวิตามินดีเพียงอย่างเดียวไม่สามารถป้องกันการเกิดกระดูกหักได้6
References
1 International Osteoporosis Foundation. Facts and statistics. osteoporosis.foundation/facts-statistics.
2 National Osteoporosis Foundation. New National Survey Reveals 82 Percent of Postmenopausal Women Miss Critical Connection Between Osteoporosis and Bone Fractures. 2017. nof.org/news.
3 World population prospects 2019 population.un.org/wpp/.
4 Adachi JD, et al. Mayo Clin Proc 2010;85:806–13.
5 Kerr C, et al. Osteoporos Int 2017;28:1597–607.
6 International Osteoporosis Foundation. That’s osteoporosis. A compact guide to osteoporosis and its prevention and treatment. 2019. osteoporosis.foundation/educational-hub/material/brochures.