สัญญาณของโรคกระดูกพรุน – คุณทราบหรือไม่?
Banner

โดยส่วนใหญ่ สัญญาณแรกของโรคกระดูกพรุนคือ การเกิดกระดูกหัก หรือที่เรียกว่าภาวะกระดูกหักจากความเปราะบาง มักจะเกิดกับบริเวณ กระดูกสะโพก ข้อมือ และกระดูกสันหลัง1 ซึ่งกระดูกสะโพกและกระดูกข้อมือมักตรวจพบได้โดยง่าย แต่สำหรับกระดูกสันหลังมักจะไม่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์สูงถึง 70%2 เนื่องจากการแตกร้าวของกระดูกส่วนนี้ ผู้ป่วยมักจะไม่ค่อยรู้สึกเจ็บปวด หรือผู้ป่วยคิดว่าเป็นเพียงการเจ็บปวดกล้ามเนื้อหลังทั่วๆไป ทั้งนี้พบว่าเมื่อมีการแตกหักของกระดูกสันหลังแล้วจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักบริเวณกระดูกสันหลังในอนาคตสูงถึง 4 เท่า และมีโอกาสที่จะเกิดกระดูกสะโพกหักสูงกว่าปกติถึง 2 เท่า3,4 นอกจากนี้ผู้ป่วยที่มีภาวะกระดูกสันหลังหักมักจะต้องเผชิญกับอาการปวดหลังที่มากขึ้น ต้องนอนพักบนเตียงนานขึ้นและทำงานได้น้อยลง ซึ่งส่งผลต่อภาวะทางอารมณ์อย่างมาก5

3 สัญญาณที่บ่งชี้ว่าคุณอาจมีภาวะกระดูกสันหลังหักและกระดูกของคุณกำลังอ่อนแอลง :

1. ส่วนสูงลดลง: ส่วนสูงของคุณลดลงมากกว่า 4 ซม. หรือไม่ หลังจากคุณอายุ 40 ปี ?

เมื่อคุณอายุมากขึ้น การมีส่วนสูงลดลงเล็กน้อยมักจะถือเป็นเรื่องปกติ แต่หากส่วนสูงของคุณลดลงมากกว่า 4 ซม. ภายในระยะเวลา 1 – 3 ปีนั้นถือว่าผิดปกติ คุณอาจมีสุขภาพกระดูกที่อ่อนแอลง ส่งผลทำให้เกิดภาวะกระดูกสันหลังแตกหรือหักได้ 5-7 คุณควรแจ้งแพทย์เพื่อวัดส่วนสูงทุกครั้งที่เข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อบ่งชี้การเกิดภาวะกระดูกสันหลังหักของคุณ 8

2. หลังค่อม: คุณมีอาการหลังค่อมหรือกระดูกสันหลังส่วนบนโค้งนูนหรือไม่ ?

อาการหลังค่อมหรือหลังโก่ง เป็นสัญญาณสำคัญที่บ่งชี้ถึงโรคกระดูกพรุน เกิดจากความผิดปกติของกระดูกสันหลังส่วนบนที่โค้งนูนมากกว่าปกติ และหลังของคุณเริ่มโค้งไปข้างหน้า อาการหลังค่อมนี้ส่งผลให้ส่วนสูงลดลง มีอาการปวดหลัง และยังส่งผลกระทบต่อระบบหายใจ เมื่อคุณสังเกตพบว่าสรีระของคุณเริ่มเปลี่ยนไป คุณควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคกระดูกพรุน9

3. อาการปวด: คุณมีอาการปวดหลังโดยไม่ทราบสาเหตุบ้างหรือไม่ ?

หากคุณเป็นโรคกระดูกพรุน กระดูกสันหลังอาจเกิดภาวะแตกหรือหักจากการได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย เช่น การเปิดหน้าต่าง การหกล้ม หรือการบิดลำตัวเมื่อยกของ ภาวะแตกหรือหักของกระดูกสันหลังอาจส่งผลให้เกิดอาการปวดทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ มากกว่า 2 ใน 3 ของผู้ที่มีภาวะแตกหรือหักของกระดูกสันหลัง จะไม่รู้สึกเจ็บปวดแต่อย่างใด4 จึงไม่ได้เข้ารับการรักษา ซึ่งเมื่อเกิดการแตกหรือหักซ้ำ ก็มีความเป็นไปได้ที่ผู้ป่วยเหล่านั้นจะรู้สึกเจ็บปวดมากขึ้น และส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการหักซ้ำเพิ่มมากขึ้น ก่อให้เกิดผลเสียต่อกระดูกสันหลังเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นหากคุณมีอาการปวดหลัง คุณไม่ควรด่วนสรุปว่าอาการเหล่านั้นเกิดจากการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อหลัง คุณควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดต่อไป10

TH-01011-PRO-2019-November

RECENT POSTS

References

1 Sambrook P, et al. Lancet 2006;367:2010–18.

2 International Osteoporosis Foundation. Spot the signs of a broken spine. 2018. osteoporosis.foundation/educational-hub/material/brochures.

3 Gonnelli S, et al. Osteoporos Int 2013;24:1151–59.

4 Lems WF. Ann Rheum Dis 2007;66:2–4.

5 Xu W, et al. Bone 2011;48:307–11.

6 International Osteoporosis Foundation. Osteoporosis.Risk.Check. 2019. riskcheck.osteoporosis.foundation.

7 Siminoski K, et al. Osteoporos Int 2005;16:403–10.

8 Cosman F, et al. Osteoporos Int 2014;25:2359–81.

9 International Osteoporosis Foundation. Treatment. osteoporosis.foundation/patients/treatment

10 Guglielmi G, et al. Eur Radiol 2008;18:1484–96.