เฟรด้าไม่อยากกระดูกหักซ้ำ
Article1_Banner

คุณทราบหรือไม่ว่า มากกว่า 3 ใน 4 ของผู้ที่เกิดกระดูกหัก ไม่เคยเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโรคกระดูกพรุน1 เนื่องจากการสูญเสียมวลกระดูก จะไม่รู้สึกเจ็บปวดและไม่แสดงอาการ คุณจึงไม่ทราบเลยว่ากระดูกกำลังอ่อนแอลง เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับเฟรด้าเช่นกัน

เฟรด้า ผู้ประสบอุบัติเหตุกระดูกข้อเท้าหัก

เมื่อเดือนที่ผ่านมา เฟรด้าหกล้มขณะกำลังเดินซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้า กระดูกข้อเท้าของเธอหัก เธอได้รับข้อมูลว่าการที่เธอหกล้มแบบไม่รุนแรงแล้วส่งผลให้กระดูกของเธอหักนั้นเป็นสัญญาณเตือนของโรคกระดูกพรุน เฟรด้าได้รับคำแนะนำให้พบแพทย์เพื่อประเมินและวินิจฉัยโรคกระดูกพรุน เฟรด้าแปลกใจมากที่เธอมีความเสี่ยงของโรคกระดูกพรุน ทั้งๆ ที่เธอค่อนข้างแข็งแรงมากสำหรับคนวัย 64 ปี เธอออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และดูแลสุขภาพเป็นอย่างดี เฟรด้าคิดว่าโรคกระดูกพรุนน่าจะเกิดขึ้นกับในคนที่อายุมากเท่านั้น

การวินิจฉัยโรคกระดูกพรุนหลังการเกิดกระดูกหัก เพื่อป้องกันการเกิดกระดูกหักซ้ำ

ในกรณีของเฟรด้า ซึ่งมีอายุมากกว่า 50 ปี และประสบปัญหากระดูกข้อเท้าหักจากการหกล้มแบบไม่รุนแรง แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยโรคกระดูกพรุนทันที เพื่อหาสาเหตุที่ส่งผลให้กระดูกของเธอไม่แข็งแรง และวัดความหนาแน่นของมวลกระดูก2 โดยใช้การตรวจที่เรียกว่า DEXA (dual energy x-ray absorptiometry) ผลการตรวจพบว่า เฟรด้ามีความหนาแน่นของมวลกระดูกต่ำกว่าค่าปกติ และเธอได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคกระดูกพรุน

จากประวัติการรักษาของเฟรด้าและประวัติครอบครัวพบว่า เธอมีความเสี่ยงอื่นๆต่อโรคกระดูกพรุน แพทย์บอกกับเฟรด้าว่าเธอมีความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนเนื่องจากเธอเข้าสู่ภาวะหมดประจำเดือนเร็วกว่าผู้หญิงทั่วไป เฟรด้าคิดว่าคุณแม่ของเธอน่าจะเป็นโรคกระดูกพรุนเช่นกัน เพราะคุณแม่เคยกระดูกสะโพกหักในวัย 60 กว่าๆ

การเริ่มการรักษาโรคกระดูกพรุน

แพทย์ของเฟรด้าเริ่มการรักษาด้วยการจ่ายยารักษาโรคกระดูกพรุนให้กับเธอ ซึ่งยารักษาโรคกระดูกพรุนนั้นมีกลไกการออกฤทธิ์หลายแบบที่แตกต่างกันออกไป ส่วนใหญ่จะเป็นยาที่ออกฤทธิ์โดยลดการทำงานของ osteoclasts ซึ่งเป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่สลายกระดูก ยารักษาโรคกระดูกพรุนจะช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกหักได้สูงสุดถึง 70% ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เกิดกระดูกหัก 3,4

ตอนนี้เฟรด้าทราบแล้วว่า การที่จะดูแลและเสริมสร้างกระดูกของเธอให้แข็งแรง เธอต้องรับประทานยารักษาโรคกระดูกพรุนอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหลายปีตามคำแนะนำของแพทย์ 5 เนื่องจากการสูญเสียมวลกระดูกเกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลานาน จึงต้องใช้เวลาในการเสริมสร้างกระดูกให้กลับมาแข็งแรงอีกครั้ง

สิ่งที่ช่วยเสริมสร้างให้กระดูกของ
เฟรด้าแข็งแรง

เฟรด้าทำสิ่งเหล่านี้เพื่อเสริมสร้างให้กระดูกของเธอแข็งแรง คุณก็ทำแบบเดียวกับเธอได้เช่นกัน 6,7

  • ปรับเปลี่ยนการบริโภคอาหารและการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างเล็กน้อยและเรียบง่าย เช่น รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง ได้รับวิตามินดีอย่างเพียงพอ ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น การออกกำลังกายแบบลงน้ำหนักและสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรง และช่วยลดความเสี่ยงต่อการหกล้ม
  • รับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เป็นประโยชน์ เช่น แคลเซียม หรือ วิตามินดี เป็นต้น

*เฟรด้า เป็นผู้ป่วยสมมติ

TH-01010-PRO-2019-December

RECENT POSTS

References

1 International Osteoporosis Foundation. Facts and statistics. osteoporosis.foundation/facts-statistics

2 Camacho PM, et al. Endocr Pract 2016;22:1–42.

3 Kanis JA, et al. Osteoporos Int 2013;24:23–57.

4 Black DM, et al. N Engl J Med 2007;356:1809–22.

5 International Osteoporosis Foundation. Treatment. osteoporosis.foundation/patients/treatment

6 International Osteoporosis Foundation. Love your bones: Protect your future. 2016. osteoporosis.foundation/educational-hub/material/brochures

7 Healthy Bones Australia. Osteoporosis treatment and bone health. healthybonesaustralia.org.au.